Pages - Menu

Pages - Menu

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทบัวบก อุดรธานี



วัดพระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่บนไหล่เขาภูพาน ซึ่งอยู่บริเวณอาณาเขตของ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญต่อชาวอุดรธานีอีกแห่งหนึ่ง ห่างจากหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (อุดรธานี-หนองคาย) ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายที่บริเวณบ้านดงไร่ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๒๑ เพื่อไปยังอำเภอบ้านผือเป็นระยะทาง ๔๓ กิโลเมตร จากนั้นจึงเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข ๒๓๔๘ (บริเวณแยกโรงพยาบาลบ้านผือ ซึ่งจะไปยังอำเภอน้ำโสม) เป็นระยะทาง ๘ กิโลเมตร จนถึงบริเวณสามแยกบ้านติ้ว ก็ให้ขับรถตรงขึ้นเขาตามถนนลาดยาง อีกประมาณ ๔ กิโลเมตร ก็เข้าสู่เขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ถึงทางแยกเข้าอุทยานฯ ให้ตรงไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ถึง วัดพระบาทบัวบก


จุดเด่นของวัดมี พระธาตุเจดีย์ใหญ่ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๙ โดยสร้างขึ้นครอบรอยพระพุทธบาทเอาไว้ คำว่า บ่บก เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดตามป่า มีหัวและใบคล้ายใบบัว ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ผักหนอก" บ่บกนี้คงมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า พระพุทธบาทบัวบก อาจมาจากคำว่า บัวบก ซึ่งหมายถึงไม่แห้งแล้งนั้นเอง


 




รอยพระพุทธบาทบัวบก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระธาตุขนาดใหญ่ที่วัดพระบาทบัวบก พระธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๙ โดยมีพระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ เป็นภิกษุสงฆ์ผู้นำในการก่อสร้างแบบขององค์พระธาตุเลียนแบบมาจากพระธาตุพนม แต่ได้ดัดแปลงภายในทำเป็นห้องครอบรอยพระพุทธบาทเอาไว้องค์พระธาตุมีความสูงประมาณ ๔๕ เมตร ยอดของพระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พบเมื่อครั้งขุดรื้อเศษปูนเก่าที่บริเวณรอยพระบาทออก ซึ่งในครั้งนั้นได้พบโบราณวัตถุอีกหลายชิ้น แต่ปัจจุบันทางวัดได้นำไปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุแล้ว รอยพระบาทบัวบก ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในห้องด้านล่างขององค์พระธาตุ มีความยาว ๑.๙๓ เมตร กว้าง ๙๐ ซม. ปัจจุบันได้มีการก่อปูนเสริมให้เป็นรูปลักษณ์ของรอยพระบาทที่ชัดเจนขึ้น โดยตรงกลางทำเป็นลายดอกบัวบาน และมีนิ้วพระบาททั้งห้ายาวเสมอกัน บริเวณติดกับองค์พระธาตุทางทิศใต้ ทางวัดได้ก่อเสริมเพิงหินเป็น ศาสนสถานเรียกว่า "ถ้ำพระ" ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสกุลช่างพื้นเมืองเป็นประธานของอาคาร ส่วนด้านนอกมีใบเสมาหินขนาดเล็กปักล้อมเพิงหินไว้ ถัดจากถ้ำพระไปอีกประมาณ ๕ เมตร มีอาคารอุโบสถของวัดตั้งอยู่ โดยทางวัดได้ดัดแปลงเพิงหิน ให้เป็นห้องขนาดเล็ก สำหรับใช้ในการทำสังฆกรรมของภิกษุสงฆ์


ซึ่งตำนานของชาวอีสานกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ในที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่ ดอยนันทะดังฮี ในแคว้นหลวงพระบาง ได้ทรงทราบว่า นาคแถบฝั่งโขงมีความดุร้าย มักรบกวนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เพื่อที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ พระองค์จึงได้เสด็จไปยัง ถ้ำหนองบัวบาน และ ถ้ำบัวบก อันเป็นที่อาศัยของนาค ๒ ตัว คือ กุทโธปาปนาค และ มิลินทนาค พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่กุทโธปาปนาค เมื่อกุทโธปาปนาคได้สดับพระธรรมเทศนาก็บังเกิดความเลื่อมใสประกาศตนเป็นอุบาสก และถือพระไตรสรณาคมน์เป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต หลังจากนั้นกุทโธปาปนาคก็นึกถึงน้องชายคือมิลินทนาคว่า ควรจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์เช่นตน เพื่อจะได้ประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควร จึงได้กราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงถ้ำบัวบกอันเป็นที่อยู่ของมิลินทนาค มิลินทนาคก็แสดงฤทธิ์อำนาจเพื่อขัดขวาง และทำร้ายพระพุทธองค์ด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดจึงได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ เข้าไปนมัสการพระพุทธองค์เพื่อขอขมา พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดมิลินทนาคเมื่อมิลินทนาคได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ก็สำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำไปแล้วและทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากมิลินทนาคมิใช่มนุษย์ พระพุทธองค์จึงอุปสมบทให้ไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย





ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงประทานไตรสรณาคมน์ ให้มิลินทนาคไว้เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกและถือปฏิบัติต่อไปเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยเบียดเบียนทำร้ายสัตว์โลกมาเป็นช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์โลก ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา เมื่อมิลินทนาครับไตรสรณาคมน์แล้ว จึงกราบทูลขอรอยพระบาทพระพุทธองค์ไว้เป็นที่สักการบูชา พระพุทธองค์ทรงพิจารณาสถานที่แล้ว จึงได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ สถานที่นี้ แล้วจึงเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธบาทแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าพระพุทธบาทบัวบก ตามชื่อถ้ำบัวบกนี้มิลินทนาคอาศัยอยู่
บริเวณวัดพระพุทธบาทบัวบก มีสถานที่อันเนื่องมาจากตำนานข้าวต้น คือ ถ้ำพญานาค อยู่ไม่ไกลจากพระพุทธบาทนัก มีลักษณะเป็นรูโพรงขนาดใหญ่ พอที่คนสองคนจะลงไปได้พร้อม ๆ กัน กล่าวกันว่าเป็นที่อาศัยของพญามิลินทนาคตามตำนาน และเชื่อกันว่ารูถ้ำพญานาคนี้ สามารถทะลุออกไปสู่แม่น้ำโขงได้หลังจากนั้นพระพุทธบาทแห่งนี้ก็ถูกทอดทิ้งมาเป็นระยะเวลานานกว่าสองพันปี อาจจะมีผู้บูรณะมาตามลำดับแต่ไม่ปรากฏหลักฐาน การบูรณะครั้งล่าสุดดังที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการบูรณะเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยมีพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งจากอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มี พระศรีทัต เป็นผู้นำ ได้ธุดงค์มาตามลำดับจนถึง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

รอยพระบาทหลังเต่า เป็นรอยพระบาทอีกรอยหนึ่งที่พบอยู่ในเขตอุทยานฯ ภูพระบาท สำหรับชื่อเรียก"พระบาทหลังเต่า" นั้น เนื่องมาจากที่บริเวณใกล้เคียงกันนี้ มีหินทรายก้อนหนึ่งมีรูปร่างคล้ายเต่า ชาวบ้านจึงเรียก รอยพระบาทนี้ว่า "รอยพระบาทหลังเต่า" เพื่อเป็นการบอกตำแหน่งที่ตั้งของรอยพระบาท รูปทรงของรอยพระบาทเป็นแอ่งหินรูปคล้ายฝ่าเท้า หันส่วนปลายเท้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตรงกลางของฝ่าเท้าทำเป็นรูปกลีบบัวบานซ้อนกัน รอยพระพุทธบาทบัวบก รอยพระพุทธบาทหลังเต่า รอยพระบาทนี้กว้าง ๗๑ ซม. ยาว ๑๖๘ ซม. บริเวณโดยรอบรอยพระพุทธบาทพบการสกัดหินเป็นหลุมกลมและช่องสี่เหลี่ยมยาวล้อมเป็นกรอบเอาไว้นอกจากนี้ยังมีแนวหลุมกลมเรียงเป็นแถวไปทางด้านหน้า ซึ่งลักษณะของแนวหลุม สันนิษฐานได้ว่า แต่เดิมน่าจะมีอาคารรอยพระพุทธบาทนี้เอาไว้ในลักษณะคล้ายห้องโถงยาว แต่อาจสร้างด้วยเครื่องไม้ จึงพังทลายไปหมดแล้ว




น้ำผุดทัพลาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ



น้ำผุดทัพลาว น้ำใสไหลแรงแห่ง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นน้ำผุดที่มีปริมาณน้ำมาก และไหลแรงไปตามที่ลาดต่ำ ลัดเลาะไปตามซอกหิน และแนวป่าเป็นทางยาว ภายใต้ความร่มรื่นของไม้ป่า แหล่งท่องเที่ยวบริเวณนี้มีพื้นที่กว่า 160 ไร่
การเดินทางจะเดินทางจากจังหวัดชัยภูมิ ผ่าน อ.แก้งคร้อ และ อ.ภูเขียว พอถึงสามแยก กม.ที่19 ก่อนจึง อ.ชุมแพ ก็เลี้ยวซ้าย ไป อ.คอนสาร ประมาณ 36 กม. พอถึงถนนสายคอนสาร – เขื่อนจุฬาภรณ์ ก็เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 4 กม. พอเห็นป้ายน้ำผุดทัพลาว เลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 3 กม. ก็จะถึงที่จอดรถซึ่งกรมอุทยานฯ เขาพัฒนาไว้เป็นบริเวณกว้าง
น้ำผุดทัพลาวเป็นน้ำที่มาจากแหล่งตาน้ำผุด เป็นน้ำใสไหลเย็น เห็นแล้วน่าลงไปอาบให้ชื่นฉ่ำใจเพราะอยู่ภายใต้ร่มไม้ป่า มีแสงแดดส่องลอดลงพื้นเพียงรำไรทำให้ไม่ร้อน น้ำที่ผุดออกมาจำนวนมาก ไหลเชี่ยวแรงเซาะซอน เมื่อตกลงไปในที่ต่ำก็กลายเป็นน้ำตกขนาดเล็ก ๆ เสียงดังซู่ซ่าไปทั่วบริเวณ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของเมืองไทยที่ไม่ควรมองข้าม


ที่อยู่ ตำบล ทุ่งนาเลา อำเภอ คอนสาร ชัยภูมิ 36180

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วนอุทยานภูหินจอมธาตุ จังหวัดอุดรธานี

วนอุทยานภูหินจอมธาตุ จังหวัดอุดรธานี
วนอุทยานภูหินจอมธาตุ จัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) โดยกำหนดให้ป่าอนุรักษ์ (โซนซี) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากุดจับ ท้องที่ตำบลกุดจับ ตำบลขอนยูง ตำบลตาลเลียน อำเภอกุดจับและตำบลน้ำไร่ ให้เป็นวนอุทยานภูหินจอมธาตุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การศึกษาวิจัยทางวิชาการ การพักผ่อนหย่อใจของประชาชนทั่วไปและเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับอยู่อาศัยของสัตว์ป่า แหล่งอาหารแหล่งนันทนาการและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติของประชาชน

ลักษณะทั่วไป 
เป็นลักษณะภูมิประเทศภูเขาหินทราย สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200-550 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำห้วยหลวงมีลำห้วยไหลผ่าน คือ ห้วยยาง และห้วยเชียง ไหลลงสู่เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี





SkyWalk วัดผาตากเสื้อ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดหนองคาย มาๆไปเที่ยวกัน

วัดผาตากเสื้อ
“สกายวอล์ค” (SkyWalk) ทางเดินพื้นกระจกใส เรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดหนองคายและเป็นแห่งแรกของประเทศไทยด้วย กติกาขึ้นชมได้ครั้งละ 20 คน คนเมา ป่วยลมชัก ห้ามขึ้น ฝนตกลมแรงงดขึ้นชม สุภาพสตรีควรนุ่งกางเกงมา เปิดให้เที่ยวชมตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น. ทุกวัน
เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2559 นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดสกายวอล์ค วัดผาตากเสื้อ ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ผาตากเสื้อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย (Dream Destination) เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว ระหว่างหนองคาย-เลย-บึงกาฬ







“สกายวอล์ค” (SkyWalk) แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศไทย และจังหวัดหนองคาย จุดชมวิวที่จะทำให้เราเห็นทัศนียภาพแบบพาโนรามาของเมืองหนองคาย เห็นแม่น้ำโขงยาวเป็นสาย เห็นเมืองสังข์ทอง และแขวงกำแพงนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว

สกายวอล์ค ตั้งอยู่ที่วัดผาตากเสื้อ ต.ผาตั้ง อ.สังคม อยู่บนเทือกเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 เมตร ซึ่งวัดแห่งนี้ถือว่าเป็นจุดชมวิวของที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของ จ.หนองคายเลยก็ว่าได้ และที่ได้สร้าง สกายวอล์ค ขึ้นมานั้นก็เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวกันมากขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดหนองคายด้วย

ส่วนการก่อสร้าง สกายวอล์ค (SkyWalk) นั้นจะเป็นรูปแบบเกือกม้า พื้นปูด้วยกระจกใสแทมเพอร์ลามิเนต ที่มีความมั่นคงแข็งแรง ทนทาน หนา 4 เซนติเมตร ยึดเหล็กติดกับฐานชั้นหินด้านล่างหน้าผา ระยะทางเดินทั้งหมด 16 เมตร เป็นส่วนทางเดินพื้นกระจกใส 15 เมตร ทางเดินถูกสร้างให้ยื่นออกไปบริเวณหน้าผา 6 เมตร เหล็กกันสนิม สามารถรับน้ำหนักนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปยืนได้ประมาณ 20 คน หรือประมาณ 2,500 กิโลกรัม

ส่วนด้านข้างใช้กระจกใสกั้นเป็นขอบเช่นเดียวกัน งานนี้ถูกออกแบบและดำเนินการก่อสร้างโดยสำนักงานโยธาธิการ และผังเมือง จังหวัดหนองคาย 

งานนิทรรศการพระเมรุมาศ สำหรับพี่น้องท่านใด๋ที่อยากเบิ่งความงดงามของพระเมรุมาศเด้อครับ

เปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการพระเมรุมาศ ระหว่างวันที่ 2 - 30 พฤศจิกายน รองรับวันละ 100,000 คน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจะเสด็จเป็นประธานเปิดนิทรรศการ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น.