Pages - Menu

Pages - Menu

วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประวัติหลวงพ่อพระใสวัดโพธิ์ชัยจังหวัดหนองคายสถานที่ทำบุญของชาวอีสานลุ่มน้ำโขงกับชาวอีสานตอนบน




ประวัติพระใส หรือ หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย
หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย "หลวงพ่อเกวียนหัก" จ.หนองคาย เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ซึ่งมีฐานะเป็นวัดอารามหลวง วัดโพธิ์ชัย ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์ชัย ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตัวเมืองหนองคายไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทาง หลวงหมายเลข 212 ทางไป อ.โพนพิสัย วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ หลวงพ่อพระใส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก หน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้อล่างถึงยอดพระเกศ ๔ คืบ ๑ นิ้วของช่างไม้

ประวัติการสร้างพระใส หลวงพ่อพระใส หรือ หลวงพ่อเกวียนหัก
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือประวัติพระพุทธรูปสำคัญ พระใส ซึ่งพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน พ.ศ. 2468 ว่า หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปหล่อในสมัยล้านช้าง และตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา 3 องค์ แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้าง บางท่านก็ว่าเป็นพระราชธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ และขนานนาม พระพุทธรูปตามนามของตนเองไว้ด้วยว่า พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลาง พระใสประจำน้องสุดท้อง มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ พระพุทธรูปปางต่างๆ

การประดิษฐานพระใส เดิมทีนั้น หลวงพ่อพระใส ได้ประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยกรุงธนบุรีได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองเวียงคำ และ"พระใส"ถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพนชัย เมืองเวียงจันทน์อีก ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์เป็นกบฎ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใส ลงมาด้วย โดยอัญเชิญมาจากภูเขาควายขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ ซึ่งผูกติดกันอย่างมั่นคงล่องมาตามลำน้ำงึม เมื่อล่องมาถึงตรงบ้านเวินแท่นในขณะนั้น เกิดอัศจรรย์แท่นของพระสุกได้เกิดแหกแพจมลงไปในน้ำ โดยเหตุที่มีพายุพัดแรงจัด และบริเวณนั้นได้นามว่า "เวินแท่น"





การล่องแพก็ยังล่องมาตามลำดับจนถึงน้ำโขง (ปากน้ำงึม) เฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้เกิดพายุใหญ่ เสียงฟ้าคำรามคะนองร้องลั่น ในที่สุดพระสุกได้แหกแพจมลงไปในน้ำ ซึ่งอาการวิปริตต่างๆ ก็ได้หายไปเป็นอัศจรรย์ยิ่ง บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า "เวินสุก" และพระสุกก็จมอยู่ในน้ำตรงนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังเหลือแต่พระเสริม พระใส ที่ได้นำขึ้นมาถึงเมืองหนองคาย พระเสริมนั้นได้ถูกอัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใส ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดหอก่อง (ปัจจุบันคือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ)

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญพระเสริม จากวัดโพธิ์ชัย หนองคายไปกรุงเทพฯ และอัญเชิญพระใสจากวัดหอก่องขึ้นประดิษฐานบนเกวียนจะอัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ ด้วย แต่พอมาถึงวัดโพธื์ชัย หลวงพ่อพระใสได้แสดงปาฏิหาริย์จนเกวียนหักจึงอัญเชิญลงไปไม่ได้ ได้แต่พระเสริมลงกรุงเทพฯ ประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม ส่วน"หลวงพ่อพระใส"ได้อัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย อ.เมืองหนองคาย จนถึงปัจจุบัน ความอัศจรรย์ของ"หลวงพ่อพระใส"จนได้สมญาว่า "หลวงพ่อเกวียนหัก"
ข้อมูล:ธรรมะไทย

ประวัติพระธาตุพนม สถานที่ท่องเที่ยวทำบุญของชาวอีสานบ้านเฮา



พระธาตุพนมหรือเรียกตามแผ่นทองจารึกซึ่งจารึกไว้ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งนครเวียงจันทน์
มาบูรณะใน พ.ศ. ๒๒๓๖ - ๔๕ ว่า "ธาตุปะนม" เป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ( กระดูกส่วนพระอุระ )
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับตกแต่งด้วยศิลปลวดลายอันวิจิตรประณีตทั้งองค์

มีความหมายทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง สูงจากระดับพื้นดิน ๕๓ เมตร ฉัตรทองคำสูง ๔ เมตร
รวมเป็น ๕๗ เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างประเทศลาว
กับประเทศไทยประมาณ ๕๐๐ เมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร

ในตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. ๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร
กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยท้าวพญาทั้ง ๕ อันมีพญาศรีโคตบูร เป็นต้น และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์
อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประมุข ลักษณะ การก่อสร้างในสมัยแรกนั้น ใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม
แล้วเผาให้สุกทีหลัง กว้างด้านละสองวาของพระมหากัสสปะ สูงสองวา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิดทั้งสี่ด้าน

เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัส สปะเถระนำมาจากประเทศอิเนเดีย
ประดิษฐานไว้ข้างใน แล้วปิดประตูทั้งสี่ด้าน แต่ยังปิดไม่สนิททีเดียว ยังเปิดให้คนเข้าไปสักการะบูชาได้อยู่บางโอกาส
ในตำนานพระธาตุพนมบอกว่า "ยังมิได้ฐานปนาให้สมบูรณ์" นี้ก็หมายความว่า ยังมิได้ปิดประตูพระธาตุ
ให้มิดชิดนั่นเอง พึ่งมาสถาปนาให้สมบูรณ์ในราว พ.ศ. ๕๐๐

ท้าวพญาทั้ง ๕ ผู้มาเป็นประมุขประธานในการก่อสร้างพระธาตุพนมในครั้งนั้น เป็นเจ้าผู้ครองนครในแคว้นต่าง ๆ คือ
๑. พญาจุลณีพรหมทัค ครองแคว้นจุลมณี ก่อด้านตะวันออก
๒. พญาอินทปัตถนคร ครองเมืองอินทปัตถนคร ก่อด้านตะวันตก
๓. พญาคำแดง ครองเมืองหนองหานน้อย ก่อด้านตะวันตก
๔. พญานันทเสน ครองเมืองศรีโคตบูร ก่อด้านเหนือ
๕. พญาสุวรรณภิงคาร ครองเมืองหนองหานหลวง ก่อขึ้นรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาละมี


สถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุพนม

องค์พระธาตุพนม ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในยุคต่อมาโดยลำดับ ซึ่งจะได้นำมาเขียนไว้โดยสังเขปดังนี้
๑. การบูรณะครั้งที่ ๑ ในราว พ.ศ. ๕๐๐ โดยมีพญาสุมิตธรรมวงศา แห่งเมืองมรุกขนคร และพระอรหันต์ ๕ องค์
เป็นประธาน ในการบูรณะครั้งนั้น ได้เอาอิฐซึ่งเผาให้สุกดีแล้วมาก่อต่อเติมจากยอดพระธาตุพนมองค์เดิมให้สูง
ขึ้นไปอีกประมาณ ๒๔ เมตร ( สันนิษฐานดูตามลักษณะก้อนอิฐหลังจากองค์พระธาตุพนมหักพังลงแล้ว )
แล้วอัญเชิญพระอุรังคธาตุออกจากอุโมงค์เดิม ซึ่งทำการบรรจุตั้งแต่สมัยพระมหากัสสปเถระ ขึ้นไปประดิษฐานไว้ใหม่
ที่ใจกลางพระธาตุชั้นที่สอง แล้วปิดประตูอย่างมิดชิด หรือสถาปนาไว้อย่างสมบูรณ์
( เวลานี้พบแล้ว อยู่สูงจากระดับพื้นดิน ๑๔.๗๐ เมตร )

๒. การบูรณะครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๗ โดยมีพระยานครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตบูร แห่งเมืองศรีโคตบูร
เป็นประธาน ได้โบกสะทายตีนพระธาตุทั้งสี่ด้าน และสร้างกำแพงรอบพระธาตุ พร้อมทั้งซุ้มประตู และเจดีย์หอข้าว
พระทางทิศตะวันออกพระธาตุ ๑ องค์ ( ถูกพระธาตุหักพังทับยับเยินหมดแล้ว )

๓. การบูรณะครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๖ - ๔๕ โดยมีเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแห่งนครเวียงจันทน์เป็นประธาน
การบูรณะครั้งนี้ ได้ใช้อิฐก่อต่อเติมจากพระธาตุชั้นที่สองซึ่งทำการบูรณะใน พ.ศ. ๕๐๐ ให้สูงขึ้นอีกประมาณ ๔๓ เมตร
ได้มีการปรับปรุงที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุใหม่ โดยสร้างอูบสำริดครอบเจดีย์ศิลาอันเป็นที่บรรจุบุษบก
และผอบพระอุรังคธาตุไว้ อย่างแน่นหนา และได้บรรจุพระพุทธรูปเงิน ทอง แก้ว มรกต และอัญมณีอันมีค่าต่าง ๆ
ไว้ภายในอูบสำริดและนอกอูบสำริดไว้มากมาย มีจารึกพระธาตุพนมว่า "ธาตุปะนม" (ประนม)

๔. การบูรณะครั้งที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๓๕๐ - ๕๖ โดยมีเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์เป็นประธาน ได้ทำฉัตรใหม่
ด้วยทองคำ ประดับด้วยเพชรพลอยสีต่าง ๆ ประมาณ ๒๐๐ เม็ด และได้ทำพิธียกฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเจดีย์ในปีนั้น
( พ.ศ. ๒๓๕๖ ) ( ฉัตรนี้ ได้นำลงมาเก็บรักษาไว้ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารใน พ.ศ. ๒๔๙๗ )

๕. การบูรณะครั้งที่ ๕ โดยมีพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน
ได้ซ่อมแซมโบกปูนองค์พระธาตุพนมใหม่ ลงรักปิดทองส่วนบนประดับแก้วติดดาวที่ระฆัง แผ่แผ่นทองคำหุ้มยอด
ปูลานพระธาตุ ซ่อมแซมกำแพงชั้นในและชั้นกลาง

๖. การบูรณะครั้งที่ ๖ ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๘๔ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ชุมจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมศิลปากรอันมีหลวงวิจิตราวาทการเป็นหัวหน้า
สร้างเสริมครอบพระธาตุพนมองค์เดิมด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่ชัน้ที่ ๓ ขั้นไป และต่อยอดให้สูงขึ้นไป
อีก ๑๐ เมตร รวมเป็น ๕๗ เมตร

๗. พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทำฉัตรใหม่ด้วยทองคำ
ซึ่งเป็นของวัดที่ได้จากประชาชนบริจาคและได้ทำพิธียกฉัตรในปีนั้น ฉัตรทองคำ มีเนื้อทองของวัดอยู่
ประมาณ ๗ กิโลกรัม นอกนั้นเป็นโลหะสีทองหนักประมาณ ๒๐ กิโลกรัม ฉัตรหนักทั้งหมด ๑๑๐ กิโลกรัม
ก่อนรื้อนั่งร้าน ทางวัดได้ขอแรงสามเณรวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร โบกปูนตั้งแต่ยอดซุ้มประตูพระธาตุชั้นที่ ๑
จนถึงยอดสุด ใช้เวลาทำงานอยู่ ๑ เดือนจึงแล้วเสร็จ



๘. พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารได้ลงรักปิดทองพระธาตุพนมส่วนยอดประมาณ ๑๐ เมตร
จนถึงก้านฉัตร ได้ขอแรงพระภิกษุสามเณรวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารช่วยทำ ใช้เวลาทำงานอยู่ ๑ เดือน
กับ ๑๕ วัน จึงเสร็จเรียบร้อยดี

๙. พ.ศ. ๒๕๑๑ ทางวัดได้ขอแรงพระภิกษุสามเณรวัดพระธาตุพนม ลงรักปิดทองลวดลายองค์พระธาตุพนมช่วงบน
ซึ่งทำการประดับใน พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๘๔ ส่วนยอดสูงประมาณ ๕ เมตร ได้เอาแผ่นทองเหลืองหุ้มแล้วจึงลงรักปิดทอง
ใช้เวลาทำงาน ๒ เดือนกว่าจึงแล้วเสร็จ

๑๐. ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ องค์พระธาตุพนมได้หักล้มลงไปทางทิศตะวันออกทั้งองค์
ทับวัตถุก่อสร้าง ๆ ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น เช่น หอพระทางทิศเหนือและทิศใต้ ศาลาการเปรียญและพระวิหารหอพระแก้วเสียหายหมด ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากฐานหรือพระธาตุชั้นที่ ๑ ซึ่งสร้างในสมัยแรกนั้นเก่าแก่มาก
และไม่สามารถทานน้ำหนักส่วนบนได้ จึงเกิดพังทลายลงมาดังกล่าว

๑๑. วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๘ หลังจากองค์พระธาตุพนมพังทลายแล้ว ๒๐ วัน เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร
ได้ลงมือทำการรื้อถอนและขนย้ายซากปรักหักพังขององค์ พระธาตุพนม ใช้แรงงานคนงานจำนวน ๕๐ คน
ใช้เวลาในการรื้อถอนและขนย้ายอยู่ ๑๗๐ วันจึงเสร็จเรียบร้อยดี

๑๒. วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๘ ทำพิธีบูชาพระธาตุพนมและบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษตลอดถึงเทพเจ้า
ผู้ พิทักษ์องค์พระธาตุพนม และอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระธาตุจำลองชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อความสะดวก
ในการก่อสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่เสร็จแล้ว
จะได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่เดิม

ในพิธีนี้มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระพิมลธรรม ( อาสภมหาเถระ )
เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และในขณะเดียวกันก็ได้อัญเชีญเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่พระธาตุ จำลองด้วย

๑๓. วันที่ ๑๗ - ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๘ ( หลังจากองค์พระธาตุพนมหักพังแล้ว ๖๒ วัน ) ได้พบพระอุรังคธาตุ
หรือกระดูกส่วนหัวอกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรจุอยู่ในผอบแก้ว หรือหลอดแก้ว
ซึ่งมีสัณฐานคล้ายรูปหัวใจ ผอบแก้วใบนี้หุ้มทองมีช่องเจาะสี่ด้าน มีฝาทองคำปิดสนิทสูง ๒.๑ เซนติเมตร
มีสีขาวแวววาวมาก คล้ายกับแก้วผลึก ภายในผอบมีน้ำมันจันทน์หล่อเลี้ยงอยู่
และมีพระอุรังคธาตุบรรจุอยู่ ๘ องค์

๑๔. วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘ ( หลังจากพบพระอุรังคธาตุแล้ว ๒ เดือน ๒๕ วัน )
ได้จัดสมโภชพระอุรังคธาตุขึ้นรวม ๗ วัน ๗ คืน งานเริ่มวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๙

ในงานนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงเสด็จมาเป็นประธานในพิธี
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์สถานที่ประกอบพิธีอยู่ที่
สนามหญ้าหน้าบริเวณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุพนม

๑๕. วันที่ ๑๐ - ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ทางวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ได้จัดงานเทศกาลประจำปี
ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออบมาให้พุทธศาสนิกชนสักการะบูชา และนำสิ่งของที่พบในองค์พระธาตุพนม
ออกมาให้ประชาชนชมตลอดงาน

๑๖. วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๙ บริษัท อิตาเลียน - ไทย ได้ขุดหลุมลงเข็มรากพระธาตุพนมองค์ใหม่
ต่อมาวันที่ ๒๘ - ๒๙ พฤษภาคม ศกเดียวกัน ทางวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อันมีพระเทพรัตนโมลี
เป็นประธาน ได้ทำพิธีลงเข็มรากพระธาตุพนมเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการก่อสร้างพระธาตุพนมองค์ ใหม่

๑๗. วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๙ สมเด็จพระสังฆราช ได้เสด็จมาเยี่ยมคณะสงฆ์และประชาชนทั่วัดพระธาตุพนม
ได้ตรวจดูการก่อสร้างองค์พระธาตุพนม และได้ทรงนมัสการพระอุรังคธาตุด้วย

๑๘. วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๐ ทางวัดได้ขอแรงประชาชนในเขตอำเภอธาตุพนม
มาขนเศษอิฐเศษปูนจากบริเวณสนามหญ้าข้างในวิหารคตออกไปกองไว้ข้างนอกทางด้าน
ทิศเหนือ ซึ่งอยู่ใกล้หอพระนอน

๑๙. วันที่ ๑๙ มกราคม ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ทางวัดได้จัดงานเทศกาลประจำปี
ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ออกไปให้ประชาชนชมและสักการะบูชาอีก และมีการแสดงนิทรรศการ
ของโบราณเหมือนปีก่อน


๒๐. วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๐ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้ลงมือประดับตกแต่งลวดลายองค์พระธาตุพนม

๒๑. วันที่ ๑๗ - ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ทางวัดได้จัดงานเทศกาลประจำปี ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ออกมาให้ประชาชนได้สักการะบูชาจนตลอดงาน พระเทพรัตนโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และนายสมพร กลิ่นพงษา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธีอัญเชิญ
ได้ทำพิธีแห่โดยตั้งขบวนแห่ที่ถนนหน้าวัดแล้วเดินทางไปตามถนนชยางกูร เลี้ยวเข้าถนนหน้าพระธาตุพนมจำลอง
ตรงไปยังเบญจาซึ่งตั้งอยู่สนามหญ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือพระธาตุ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เบญจา
เสร็จงานแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เดิม ในงานนี้มีการแสดงนิทรรศการเหมือนปีก่อนฯ

๒๒. วันที่ ๖ - ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ ทางวัดได้จัดงานนมัสการพระธาตุพนมประจำปีเหมือนปีก่อน ๆ
และได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุออกมาให้พุทธศาสนิกชนสักการะบูชาตลอดงาน พระเทพรัตนโมลี
เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร และนายพิชิต ลักษณะสมพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
เป็นประธานในพิธีอัญเชิญ ได้ทำพิธีแห่รอบองค์พระธาตุ ๑ รอบ แล้วจึงได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานไว้
บนพระเบญจาตลอด ๗ วัน ในวันสุดท้ายของงานพระเทพรัตนโมลี พร้อมด้วยพระสงฆ์และญาติโยม
ได้ทำพิธีคาระวะพระอุรังคธาตุ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เดิม ในงานนี้มีการนำเอาของมีค่า
ซึ่งค้นพบที่องค์พระธาตุพนมออกมาให้ประชาชนได้ชม จนตลอดงานเหมือนปีที่แล้วมา

๒๓. วันที่ ๒๑ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๒ ทางรัฐบาลได้จัดพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาเป็นประธานในพิธีบรรจุ ในวันแรกของงานได้ทำพิธี
แห่พระอุรังคธาตุ ในวันที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกทรงเป็นประธานยกฉัตรพระธาตุ
ในวันที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จมาทรงบรรจุพระอุรังคธาตุ

พระสถูปที่เก็บพระธาตุองค์เดิม

คำไหว้พระธาตุพนม 
ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฏฐิมายะ 
อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะ คิริสมิง ปัพพะเต มหากัสสะเปนะ 
ฐาปิตัง พุทธะอุรังคธาตุง สิระสา นะมามิ

คำไหว้ยอดพระธาตุพนม 
เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

ที่มา สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

หอยปังสัตว์น้ำเศรษฐกิจหายากในสมัยนี้ที่กำลังมาแรง





หอยปัง มีลักษณะภายนอกเหมือนหอยโข่งและหอยเชอรี่แต่มีเนื้อที่นุ่มกว่า เราจึงนิยมนำหอยปังมาทำก้อยหอยอันแสนอร่อย ขอแนะนำให้ต้มหอยให้สุกก่อนจะนำมาทำก้อยหอยนะครับ หอยปังมีกลิ่นคาวน้อยกว่าหอยโข่งและหอยเชอรี่ซึ่งหอยปังในปัจจุบันนับว่าหาได้ยากแล้วแต่สมัยก่อนนั้นหาได้ง่ายตามท้องไร่ท้องนา  ไข่ของหอยปังจะเป็นลูกกลมๆขนาดเล็กสีขาวเกาะกันเป็นกลุ่มบนต้นข้าวหรือกอหญ้า และในเวลาที่น้ำลดจะชอบหลบซ่อนอยู่ใต้ดิน ปัจจุบันหอยปังกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่กำลังมาแรงซึ่งการขายหอยปังขายเป็นกิโลกิโลกรัมละ 100 บาทเลยทีเดียว
ความแตกต่างระหว่างหอยปังกับหอยเชอรี่เรามาดูกันเลยครับ



อาหารแก้หนาวของหมู่เฮาชาวอีสาน


ข้าวเปียก เป็นอาหารญวนนิยมกินกันตอนเช้าเหมือนข้าวต้มได้ซดน้ำฮ้อนฮอนมีแฮงบักคัก 


ไข่ปิ้ง นำไข่ขาวมาปรุงรสแล้วก็นำไปปิ้งนิยมกินกันในช่วงหน้าหนาวและหน้าเทศกาลตอนกลางคืนอร่อยมาก


ข้าวหลาม ก่อไฟตอนเช้าหรือตอนกลางคืนมีข้าวหลามมากย่างข้างข้างกองไฟอร่อยอย่าบอกใครเลยหละ


หนังวัวจี่ นำมาจี่ไฟแล้วมาทุบให้นิ่มกินกับน้ำจิ้มแจ่วหรือกินกับข้าวเหนียวร้อนๆแซ่บหลายเด้อ


จี่กะปู พี่น้องบ้านเฮายังจำกันได้หรือไม่สมัยเด็กๆนั่งข้างกองไฟอีพ่ออีแม่เฮาเพิ่นกี่กะปูกินกับข้าวเหนียวฮ้อนๆแซบหลาย


แจ่วฮ้อน เหมือนสุกีแต่เป็นในฉบับของอีสาน ใช้หม้อดินในการทำแจ่วฮ้อน เพื่อให้ได้รสชาติความหอมและกินกับน้ำจิ้มแจ่วฮ้อนสูตรเฉพาะของชาวอีสานหน้าหนาวอย่างนี้ขอบอกว่าสุดยอดอีหลี


แมลงคั่ว กับข้าวเหนียวร้อนๆตอนเช้าๆอร่อยอีกแบบ


เม็ดมะขามคั่ว อันนี้เวลานั่งผิงไฟจะมีของขบเคี้ยวในวงผิงไฟ ยิ่งเคี้ยวยิ่งมัน


แกงเส้น ของขึ้นชื่อของชาวอีสานอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยแก้หนาวได้ในตอนเช้าเช้าเป็นอย่างดีรสชาติอร่อยอีหลีเด้อ


ไก่อบฟาง เมนูเลื่องชื่อที่เวลาไปไร่ไปนาจะต้องทำเมนูนี้ ไก่อบฟางจะต้องใช้ไฟที่เหมาะสมและระยะเวลาที่เหมาะสมมิเช่นนั้นไก่จะไหม้ ทำไก่อบฟางไปด้วยผิงไฟไปด้วยโอ้โหสุดยอดเลย


ปิ้งปลาเข็ง หน้าหนาวอย่างนี้ก็จะมีปลาข่อนปลาช่วงนี้จะมันมากนำมาปิ้งกินกับข้าวเหนียวร้อนๆ ขอบอกว่ามันแซบอีหลี


ข้าวจี่ เมนูเด็ดเลื่องชื่อของชาวอีสานที่มาพร้อมกับหน้าหนาวที่ทุกคนต้องหากินให้ได้ ตอนเช้านั่งผิงไฟมีข้าวจี่ทาไข่ร้อนๆสักปั้นหนึ่งเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

คั่วลูกกระบก นำลูกกระบกมากระเทาะเปลือกออกแล้วนำมาคั่วให้หอมกินเปล่าๆก็ได้กินกับข้าวเหนียวร้อนๆก็อร่อยเด้อ


มันปิ้ง เวลานั่งผิงไฟปตอนเช้าหรือตอนเย็นนำมันมาปิ้งไว้ข้างๆกองไฟเมื่อสุกมันจะส่งกลิ่นหอมเย้ายวนใจขอบอกว่าเมนูนี้ก็อร่อยไม่แพ้เมนูไหนเลยนะ



ไข่กระทะ ตอนเช้าอากาศหนาวหนาวได้กินไข่กระทะกับกาแฟร้อนๆแก้หนาวได้อย่างดีเลยเด้อพี่น้อง

ตำบักหุ่ง หน้าหนาวอย่างนี้ได้ตำบักหุ่งเผ็ดๆซักถาดใส่กับบักกอก มันช่างเป็นเมนูที่สุดยอดจริงๆ


ตำถั่ว ตำถั่วสักถาด กินกับผักกะแยงกับปิ้งปลา ข้าวเหนียวอุ่นอุ่นขอบอกว่าเป็นอาหารรสเลิศจริงๆเด้อพี่น้อง


วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ภาพเขียนสีถ้ำสิงห์ อีกที่น่าเที่ยว จังหัวอุดรธานี





ภาพเขียนสีถ้ำสิงห์ เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจของจังหวัดอุดรธานี อยู่ในเขตพื้นที่ ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่อยากสัมผัสธรรมชาติในสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก


เมื่อมาถึงแล้วแนะนำให้เดินไปตาม เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติถ้ำสิงห์ เป็นเส้นทางที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการค้นพบภาพเขียนซึ่งมีอายุกว่าพันปี ถ้ำสิงห์ค้นพบโดยนายพรานท้องถิ่นที่ออกล่าสัตว์และเข้าพักอาศัยในถ้ำแล้วมองเห็นภาพเขียนสีมีลักษณะคล้ายรูปสิงห์จึงมีการเรียกสืบต่อกันมา ภายหลังกลุ่มอาสาสมัครได้แจ้งให้อำเภอขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ พบว่าภาพเขียนนี้มีอายุกว่า 2,300 ปี ภาพวาดมีลักษณะเป็นรูปสัตว์และรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติถ้ำสิงห์มีระยะทาง 3 กิโลเมตร เป็นการศึกษาธรรมชาติป่าสงวนแห่งชาติป่ากุดจับ ประกอบไปด้วยป่าชนิดต่างๆ เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าทุ่งหญ้า มีพรรณไม้หลายชนิด เช่น ประดู่ แดง มะคำแต๊ กระบก โดยระหว่างเส้นทางเดินชมธรรมชาติมีจุดแวะชมสถานที่ที่น่าสนใจตลอดเส้นทาง


ถ้ำสิงห์ มีภาพเขียนสีที่ใช้สีแดงทั้งหมด เรียกว่า การสร้างภาพด้วยวิธีการลงสี (Pictograph) เช่น การวาด การระบายสี พ่น ประกอบด้วยภาพ 2 แบบ ได้แก่ ภาพรูปลักษณ์ (Figure) คือ ภาพที่มีรูปร่างแน่นอน บอกได้ว่าเป็นภาพอะไร เช่น ภาพสัตว์ ภาพมือ และภาพรูปลักษณ์ (Non figure) คือ ภาพที่มีรูปร่างไม่แน่นอน ลวดลายเรขาคณิต


จุดชมวิวผาอาสนะพระอิศวร มีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า พระอิศวรได้ประพาสป่าแล้วเล็งเห็นว่าเป็นจุดสำคัญจึงได้เนรมิตก้อนหินใหญ่เป็นอาสนะประทับค้างแรม ลักษณะเป็นผาสูงชันเหมาะเป็นจุดชมวิว หากมองไปทางทิศตะวันตกจะเห็นทิวทัศน์ของตัวจังหวัดหนองบัวลำภู และมองเห็นยอดภูกระดึงที่บริเวณสุดสายตาและหากมองไปทางทิศตะวันออกจะเห็นทิวทัศน์ของอำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี โดยสามารถมองผ่านช่องระหว่างเทือกเขา มีทิวทัศน์อันสวยงาม เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินและมองเห็นทิวทัศน์ของเขื่อนห้วยหลวงได้ชัดเจน


ศาลปู่ - ตา ปู่หลุบเป็นที่นับถือของชาวบ้านในแถบนี้ เมื่อถึงฤดูกาลทำนาชาวบ้านจะนำสัตว์เลี้ยงขึ้นไปปล่อยเลี้ยงบนภูเขาแล้วสักการะบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองสัตว์ไม่ให้เกิดภัยอันตรายต่อสัตว์และชาวบ้าน

ถ้ำคอกม้า ลักษณะเป็นเพิงหินซ้อนกันมีช่องโพรงซึ่งสามารถเดินทะลุผ่านได้ ที่เรียกถ้ำคอกม้าเนื่องจากเกิดความสอดคล้องกับตำนาน 'อุษา-บารส' ซึ่งเป็นตำนานพื้นบ้านของชาวอีสาน โดยท้าวบารสได้ออกตามหานางอุษาและได้ผูกม้าเอาไว้ ณ บริเวณนี้


ถ้ำนกยูง ค้นพบโดยนายพรานท้องถิ่นที่ออกล่าสัตว์ได้เจอนกยูงอาศัยทำรังบริเวณโพรงหิน จึงมีการเรียกสืบทอดต่อกันมาว่าถ้ำนกยูง ลักษณะถ้ำเป็นโพรงหินขนาดใหญ่ ด้านหน้าจะมีหินงอก หินย้อยออกมา และมีรูปร่างคล้ายนกยูงกางปีก


ที่ซ่อนเสบียงอาหารและอาวุธของคอมมิวนิสต์ ในสมัยก่อนมีกลุ่มคอมมิวนิสต์ได้มาซ่อนอาวุธและเสบียงอาหารขณะที่หลบหนีเจ้าหน้าที่ ที่ซ่อนเสบียงและอาวุธมีลักษณะเป็นโพรง ปากหลุมกว้าง ช่องโพรงยาวไปทะลุอีกด้านของลานหิน

นอกจากนี้ยังมีจุดแวะชมสถานที่ที่น่าสนใจในระหว่างเส้นทางเดินชมธรรมชาติอีกหลายจุด เช่น ทับควาย น้ำตกซำขนุน น้ำตกวังขนุน วัดป่าภูโหลน ถ้ำฤๅษีและหมู่หิน รอให้คนที่อยากสัมผัสธรรมชาติแวะชมตลอดเส้นทาง 3 กิโลเมตร

การเดินทางจากตัวเมืองจังหวัดอุดรธานีไปยัง ถ้ำสิงห์ ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ระยะทาง 24 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ





อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตั้งอยู่บนเทือกเขาพังเหย ภูมิประเทศเป็นเนินเขาสลับซับซ้อน ระดับความสูงประมาณ 300-846 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ มีความหลากหลายของระบบนิเวศ และมีไม้ดอกจำพวกดุสิตา เอนอ้าและกล้วยไม้ ขึ้นอยู่จำนวนมาก และมีสัตว์ป่านานาพันธุ์ มีนกกว่า 56 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 21 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 10 ชนิด จุดท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯได้แก่

ลานหินงาม เป็นบริเวณที่มีโขดหินใหญ่รูปร่างแปลก ๆ กระจายอยู่เต็มไปหมดในเนื้อที่กว่า 10ไร่ เกิดจากการกัดเซาะของเนื้อดินและหินเป็นรูปลักษณ์แตกต่างกัน สามารถจินตนาการเป็นรูปต่าง ๆ เช่น ตะปู เรด้าร์ แม่ไก่ เป็นต้น


ทุ่งดอกกระเจียว หรือทุ่งบัวสวรรค์ กระเจียวเป็นพืชล้มลุกจำพวกขิง-ข่า พบขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ลานหินงามไปจนถึงจุดชมวิวสุดแผ่นดิน เหมาะมาเที่ยวชมในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ของทุกปี

สุดแผ่นดิน เป็นหน้าผาสูงชันและเป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหย ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 846 เมตร เป็นแนวหน้าผาซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน ที่จุดชมวิวสุดแผ่นดินจะมองเห็นทิวทัศน์สันเขาสลับซับซ้อน และมีสายลมพัดเย็นสบายตลอดวัน

น้ำตกเทพพนา อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง เกิดจากลำห้วยกระโจนที่ไหลจากเทือกเขาพังเหย แบ่งเป็นสามชั้นลดหลั่นกัน ชั้นบนสุดมีความสูงประมาณ 2-3 เมตร ชั้น 2 สูงประมาณ 2-3 เมตร และชั้นสุดท้ายมีความสูงประมาณ 6 เมตร จะมีน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝน

น้ำตกเทพประทาน ตั้งอยู่ตำบลบ้านไร่ อยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง ลักษณะค่อนข้างแบน มีหินขนาดใหญ่เป็นลานกว้างลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้นเตี้ย ๆ และมีดอนที่สูงชันอยู่แห่งหนึ่ง มีน้ำมากในช่วงฤดูฝน

พระพุทธบาทเขายายหอม ตั้งอยู่บริเวณลานหินบนยอดภูเขาหอม เทือกเขาพังเหย ดงพญาเย็น ในบริเวณวัดพระพุทธบาทเขายายหอม ตำบลนายางกลัก มีลักษณะเป็นรอยพระพุทธบาทข้างซ้ายสีแดง ประทับลึกลงไปในลานหิน ขนาดความกว้าง 75 เซนติเมตร ยาว 180 เซนติเมตร และลึก 45 เซนติเมตร ล้อมรอบด้วยบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ 3 บ่อ พระพุทธบาทเขายายหอมห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 65 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 63 กิโลเมตร แต่ถ้าหากจะเริ่มต้นจากที่ว่าการอำเภอซับใหญ่ไปทางทิศเหนือก็จะห่างเพียง 8 กิโลเมตรเท่านั้น
อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตู้ ปณ.2 ปทจ.เทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ 36230 โทร. 0 4489 0105 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th
ค่าเข้าชม คนไทยผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท /ชาวต่างชาติผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท




ความหมายของคำว่า ฮีตสิบสอง ของชาวอีสานที่คนอีสานรุ่นใหม่อาจยังไม่เคยรู้






ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธ์ลาว ซึ่งร่วมถึงชาวลาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป

ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน ดังนั้นฮีตสิบสองจึงหมายถึงประเพณีที่ชาวลาวในภาคอีสาน และประเทศลาว ปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา
1.นักปราชญ์โบราณได้วางฮีตสิบสองไว้ดังนี้
เดือนอ้าย - บุญเข้ากรรม
เดือนยี่ - บุญคูณลาน
เดือนสาม - บุญข้าวจี่
เดือนสี่ - บุญผะเหวด
เดือนห้า - บุญสงกรานต์
เดือนหก - บุญบั้งไฟ
เดือนเจ็ด - บุญซำฮะ
เดือนแปด - บุญเข้าพรรษา
เดือนเก้า - บุญข้าวประดับดิน
เดือนสิบ - บุญข้าวสาก
เดือนสิบเอ็ด - บุญออกพรรษา
เดือนสิบสอง - บุญกฐิน

งานบุญประเพณีที่เกี่ยวข้องกับฮีตสิบสองที่สำคัญของชาวอีสาน
บุญเดือนสี่ จังหวัดร้อยเอ็ด (งานประเพณีบุญผะเหวด)
บุญเดือนหก จังหวัดยโสธร (งานประเพณีบุญบั้งไฟ)
บุญเดือนแปด จังหวัดอุบลราชธานี (งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา)
บุญเดือนสิบเอ็ด จังหวัดนครพนม (งานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ) และจังหวัดสกลนคร (งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง)

คองสิบสี่ เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง คองหมายถึง แนวทาง หรือ ครรลอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และ สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคองสิบสี่จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ อาจสรุปได้หลายมุมมองดังนี้
เป็นหลักปฏิบัติกล่าวถึงครอบครัวในสังคม ตลอดจนผู้ปกครองบ้านเมือง
เป็นหลักปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง และหลักปฏิบัติของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์
เป็นหลักปฏิบัติที่พระราชายึดถือปฏิบัติ เน้นให้ประชาชนปฏิบัติตามจารีตประเพณี และคนในครอบครัวที่ปฏิบัติต่อกัน
เป็นหลักปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุขตามจารีตประเพณี

แต่ละข้อมีคำว่าฮีตนำหน้าด้วย (ทำให้เกิดความสับสนกับฮีตสิบสอง) แต่ละคองจะมีสิบสี่ฮีต ยกเว้น ฮีตปีคลองเดือน จะมีเพียงสิบสองฮีต ซึ่งนั่นก็คือฮีตสิบสองที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น 
2 .คองประกอบด้วย
ฮีตเจ้าคองขุน
ฮีตท้าวคองเพีย
ฮีตไพร่คองนาย
ฮีตบ้านคองเมือง
ฮีตปู่คลองย่า
ฮีตตาคองยาย
ฮีตพ่อคองแม่
ฮีตใภ้คองเขย
ฮีตป้าคองลุง
ฮีตลูกคองหลาน
ฮีตเถ้าคองแก่
ฮีตปีคองเดือน (ฮีตสิบสอง)
ฮีตไฮ่คองนา
ฮีตวัดคองสงฆ์
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย